ปัจจุบันกระแสความนิยมเกาหลี หรือ Korean Wave ได้แพร่ขยายไปทั่วทั้งเอเชีย จากเดิมที่เกาหลีใต้เป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่มีวัฒนธรรมไม่โดดเด่นเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน หรือญี่ปุ่น ที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง แต่เกาหลีใต้ได้พยายามประชาสัมพันธ์ตัวเอง และเผยแพร่วัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลงต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมผ่านการวางแผนยุทธศาสตร์ มีการเตรียมความพร้อมที่ชัดเจนและจริงจัง จนกลายเป็นแบรนด์สินค้าวัฒนธรรมที่มีศักยภาพอย่างยิ่งในการเจาะตลาดเอเชีย สร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล โดยหนึ่งในวิธีการเจาะตลาดเอเชียของเกาหลีใต้ที่จะต้องกล่าวถึงคือ กระแส K-POP เป็นที่ทราบกันดีว่า ตลาดบันเทิงเอเชียในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยศิลปิน/นักร้องชาวเกาหลี (Idol) ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเดี่ยว หรือกลุ่ม และเป็นที่นิยมอย่างถึงขีดสุดในระยะเวลา 5 ถึง 10 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นผลผลิตชั้นยอดของเกาหลีใต้ที่พัฒนาให้ศิลปินเหล่านี้กลายเป็น “แบรนด์ทางวัฒนธรรม” จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า เกาหลีใต้ทำได้อย่างไรถึงสามารถสร้างปรากฎการณ์ K-POP Fever ขึ้นในทวีปเอเชีย โดยบทความฉบับนี้จะวิเคราะห์เบื้องต้นถึงแนวทางการสร้าง Idol และกลยุทธ์ทางการตลาดของเกาหลีใต้ในการช่วงชิงพื้นที่ความนิยมไปจากสินค้าทางวัฒนธรรมกระแสเดิม
การส่งเสริมการขาย การนำ K-POP เจาะตลาดเอเชีย จนทำให้เกิดกระแส Korean Fever ขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย สิ่งที่เป็นกลไกสำคัญที่สุดคือการส่งเสริมการขาย จัดเป็นสุดยอดทางการตลาดของเกาหลีใต้ในยุคนี้ ซึ่งการส่งเสริมการขายของเพลงเกาหลีจะอยู่ในรูปแบบการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นการโปรโมท Idolในช่วงก่อนที่ผลงานเพลงจะออกวางจำหน่าย รวมทั้งการเปิดตัวในงานต่างๆ รวมทั้งการจัดทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อโปรโมท Idol และงานเพลงให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย อีกทั้งบริษัทหรือค่ายเพลงต่างๆ ยินยอมให้นักร้องในสังกัดตนเองเข้าร่วมรายการวาไรตี้ ทั้งเป็นพิธีกรและแขกรับเชิญ เช่น รายการ Star King ที่มี Idol รับเชิญมาเป็นกรรมการพิจารณาความสามารถของผู้เข้าแข่งขันจากทางบ้าน รายการ We got Married ที่นำ Idol แต่ละคนมาทดลองใช้ชีวิตร่วมกันเหมือนคู่แต่งงาน รายการเพลง Inkigayo เป็นต้น รวมทั้งการเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา เพราะนอกจากจะเป็นการโปรโมทที่ดีแล้ว บริษัทยังได้รับส่วนแบ่งรายได้จากค่าตัวของ Idol แต่ละคนด้วย มีการเปิดเผยตัวเลขค่าจ้าง Idol ของเกาหลีที่เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาในปี 2554 ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น Rain และ Bigbang ค่าจ้างอยู่ที่ 1-1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ 2PM Girl Generation ลี เฮียว ริ และวง 2NE1 ค่าจ้างจะอยู่ที่ 8-9 แสนเหรียญสหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในการขยายฐานแฟนเพลงออกไปทั่วเอเชียอีกด้วย รายการต่างๆ เหล่านี้ได้ออกฉายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก