Tag Archives: ดารา

ทางการผลิตข่าวบันเทิง ศิลปิน ผ่านวิวัฒนาการเทคโนโลยี

เมื่อประมาณสิบปีก่อนนักเทคโนโลยีและนักสื่อสารมวลชนบางส่วนได้มีการทำนายถึงอนาคตของรูปแบบในการสื่อสารที่เปลี่ยนไป บ้างทำนายว่าสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษจะหมดความสำคัญลง ซึ่งในยุคปัจจุบันก็ได้พิสูจน์แล้วว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงมีความสำคัญอยู่ ถึงแม้มูลค่าทางการตลาดจะลดลงจำนวนไม่น้อย แต่ในปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีมีราคาที่ถูกลงและรวดเร็วมากขึ้นสิ่งที่เข้ามาทดแทนก็คือช่องทางในการเข้าถึงข่าวสารใหม่ๆ นั่นก็คือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ที่มีราคาตั้งแต่หลักไม่กี่พันถึงหลักหมื่นต้นๆ ให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้

นักเทคโนโลยีและนักสื่อสารมวลชนก็เคยทำนายเช่นเดียวกันว่าการกำเนิดขึ้นของชนชั้นนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Mobile Journalists หรือ MoJo จะแพร่หลายมากขึ้นในเมื่อทุกๆคนสามารถเล่นบทบาทของผู้สื่อข่าวได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เราอาจจะลืมพูดในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ การสื่อสารในรูปแบบใหม่ก็สร้างผู้อ่านกลุ่มใหม่เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการสื่อสารแบบตัดตัวกลางออกคือ สามารถเลือกสื่อสารกับแหล่งข่าวได้โดยตรง

ในประเทศไทยนั้นเราจะเห็นลักษณะการสื่อสารดังกล่าวชัดเจนที่สุดกับวงการข่าวบันเทิง ที่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ทำให้เราสามารถสื่อสารได้กับดาราโดยตรง หากมองเฉพาะวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของวงการบันเทิงไทยระหว่างศิลปินดารากับกลุ่มแฟนคลับ ในวันนี้ถือว่ารูปแบบความสัมพันธ์นั้นเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก

ในอดีตยุคหลังปี 2500 การได้พบกับตัวตนของศิลปินดารานั้น สามารถทำได้ยากมากเนื่องจากอัตราเฉลี่ยระหว่างดารากับประชาชนนั้นอยู่ในอัตราที่น้อยมาก ดาราจึงมีลักษณะเป็นกลุ่มบุคคลเฉพาะที่มีสถานะทางสังคมเป็นดั่งบุคคลพิเศษ การที่จะได้พบเห็นดาราในแต่ละครั้งนั้น อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ซับซ้อน เช่น การจ้างงานโชว์ตัวประเภทปิดโรงภาพยนตร์ หรือพิธีการบวงสรวงเปิดกองภาพยนตร์ต่างๆ ข่าวคราวเกี่ยวกับดารานั้นเป็นรูปแบบการสื่อสารทางเดียวซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบข่าวแจกจากกองภาพยนตร์ต่างๆ ที่มีการคัดกรอง ดังนั้นดาราในยุคนั้นมีอิทธิพลในการกำหนดการสื่อสารต่อรองได้ เช่น ดาราบางคนสามารถปกปิดข่าวการมีครอบครัวของตนเอง จนมาถึงยุคที่สังคมเปิดกว้างให้พระเอก-นางเอกมีครอบครัวได้

ต่อมาในช่วงยุคหลัง 2520 ดาราเริ่มมีจำนวนที่มากขึ้นโดยเฉลี่ย การสื่อสารเทคโนโลยีต่างๆ ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของโทรทัศน์ที่มีราคาถูกลงที่กลายเป็นสื่อบันเทิงประจำครอบครัวที่มีกำลังซื้อและแหล่งชุมชนที่เป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น ร้านกาแฟและร้านเสริมสวย การเกิดขึ้นของเครื่องเล่นวีดีโอที่ทำให้ภาพยนตร์ที่ลาโรงแล้วสามารถนำมาฉายซ้ำได้ สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงการสื่อสารอย่างไร? การที่ผู้ชมได้รวมกลุ่มกันวิพากษ์วิจารณ์ทำให้สถานะศักดิ์สิทธิ์ของดารานั้นลดน้อยถอยลง ผู้ชมมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น สิ่งที่วัดระดับสมัยนั้นที่เรียกว่าเรตติ้ง (rating) สามารถยืนยันความนิยมของแต่ละคนได้ ดังนั้นผู้จัดละคร หรือสื่อมวลชนจึงเริ่มเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ทั้งในด้านการปรับภาพลักษณ์ของดารา การกำหนดความนิยมว่าจะให้ใครรุ่งหรือร่วง รวมไปถึงดาราเองก็ใช้สื่อมวลชนเป็นเผยแพร่สารของตนไปสู่กลุ่มผู้ชม เราจะเห็นการเกื้อหนุนของระบบนี้ได้ดีที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว

สถานะดังกล่าวดำรงต่อเนื่องมาจนถึงช่วงยุคทศวรรษก่อนแต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบผ่านเทคโนโลยีอยู่บ้าง เช่น จากแผ่นเสียง สู่เทป มาถึงซีดี หรือการขยายโอกาสในด้านของภาพยนตร์สู่ระบบมัลติเพล็กซ์ แต่ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปร่างของ สื่อกลางที่นำสารต่างๆ ไปยังกลุ่มผู้รับสารเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างดารา นักข่าว และผู้รับสารเปลี่ยนไปตลอดกาล มีอยู่สองปัจจัยด้วยกัน อันได้แก่ การเข้ามาถึงเข้ายุคดิจิทัล และ จำนวนสัดส่วนระหว่างดารากับแฟนๆ

ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งมาพร้อมกับราคาที่ถูกลงของ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและระบบสื่อความบันเทิงดิจิทัลทั้งเอ็มพีสาม (MP3) และโทรศัพท์มือถือที่เริ่มสามารถให้กลุ่มผู้ชมมีสถานะเป็นผู้เลือกได้มากขึ้น เช่น เราสามารถเลือกเพลงผ่านเอ็มพีสามโดยคละศิลปิน คละค่าย คละภาษา ผ่านโปรแกรมที่ใช้ฟังเพลงบนคอมพิวเตอร์ได้ แทนที่จะต้องเลือกฟังจากซีดีหลายๆ แผ่นจากหลายๆ ศิลปิน ปัญหาและปัจจัยของความแพร่หลายของยุคดิจิทัลในยุคแรกก็คือ ราคาที่ยังสูงอยู่ และลักษณะการพกพาที่ยังไม่สามารถทำได้สะดวกนัก ซึ่งในช่วงนั้นสื่อมวลชนบางส่วนได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้รองรับยุคดิจิทัลแล้ว เช่น การแยกกองบรรณาธิการสิ่งพิมพ์และกองบรรณาธิการเว็บข่าวของเครือผู้จัดการ รวมไปถึงวัฒนธรรมเว็บบอร์ดที่เฟื่องฟูในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ผู้รับสารสามารถมีสิทธิ์มีเสียงในการวิจารณ์และให้ความเห็นส่วนตัวต่อผลงานต่างๆ ซึ่งเป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของนักวิจารณ์ตามหน้าสื่อบันเทิงตามต่างๆ ทางด้านค่ายบันเทิงต่างๆ ก็มีการปรับกลยุทธ์ทั้งในการลดราคาผลงานเช่น ซีดี ในราคาที่ถูกลงเพื่อให้สามารถรักษากลุ่มแฟนๆ ไว้ได้ ทั้งยังให้เลือกซื้อสินค้าลิขสิทธิ์ รวมไปถึงการออกกลยุทธการตลาดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ในช่วงเวลานั้น

ใช้สื่อออนไลน์ในการโปรโมทศิลปิน

ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 เมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานประจำครัวเรือนด้วยราคาที่ถูกลงและสัญญาณความเร็วที่สูงขึ้น อินเทอร์เน็ตได้นำพาโอกาสและอิสรภาพในการสื่อสารมาถึงคนไทย พายุแห่งข้อมูลกลายเป็นคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง ประกอบกับเครื่องมือในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความหลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น สู่ระบบคอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์มือถือที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ความสัมพันธ์ของการผลิตของสื่อและข่าวบันเทิงนั้นเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมากหลังจากการเข้าถึงของยุคดิจิทัล เมื่อทุกคนมีสิทธิที่จะส่งเสียงตัวเองออกไปเท่ากัน จากเดิมที่อำนาจในการเลือกสรรกระแสให้กับสังคมนั้นๆเป็นหน้าที่ของดาราและสื่อแต่เพียงสองฝ่าย แต่เมื่อผู้ชมมีสิทธิ์ที่จะออกเสียงสะท้อนว่า ชอบหรือไม่ชอบสิ่งใด และมีตัวเลือกในการรับข้อมูลที่มากขึ้นด้วย

แต่สิ่งที่เปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมบันเทิงอย่างแท้จริง เกิดขึ้นประมาณสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมานั่นก็คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพ เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม การนำพาสารจาก ผู้ใช้ สู่ ผู้ใช้ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูลมากขึ้น เมื่อผู้บริโภคยุคใหม่มีความเชื่อถือข้อมูลจากคนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ มากกว่าสื่อมวลชนอาชีพ และในทางตรงกันข้ามดาราก็สามารถตัดตัวกลางระหว่างพวกเขากับผู้ชมได้

ประชนชนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปินดาราคนโปรดได้ในมุมมองที่พวกเราไม่เคยเห็น โดยเฉพาะมุมมองแบบคนธรรมดา มากกว่าการเห็นพวกเขาในบทบาทเพียงหน้าจอเท่านั้น เช่น ดาราคนนี้ชอบไปรับประทานอาหารร้านนี้ ดาราคนนี้มีสไตล์การแต่งตัวแบบนี้ ทำให้แฟนคลับเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งในเรื่องแฟชั่น รสนิยม

ทุกคนมีปุ่มกด Like เท่ากับ 1 เสียงที่เท่ากัน ที่จะสะท้อนไปยังตัวดาราว่ามีคนชื่นชอบว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่ดาราคนนั้นนำเสนอ เปรียบเหมือนเครื่องวัดเรตติ้ง ซึ่งเมื่อไปถึงจุดนั้น สื่อมวลชนกระแสหลักมีหน้าที่ขยายผลต่ออย่างรวดเร็วเพราะยังคงมีความน่าเชื่อถือและเข้าถึงคนกลุ่มหมู่มากได้อยู่ โดยเฉพาะรูปแบบในการบริโภคของประชาชนในประเทศไทยที่ถึงแม้จะบริโภคข้อมูลจากสื่อออนไลน์ยังมีการบริโภคผ่านสื่อเก่าควบคู่ไปด้วยซึ่งแตกต่างจากบางประเทศในตะวันตกที่สื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่สื่อเก่าไปแล้วบางส่วน

เมื่อทุกฝ่ายเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในช่องว่างดังกล่าวที่ไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จในยุคดิจิทัล รูปแบบการพึ่งพาซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้น เมื่อดาราใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการโปรโมทกิจกรรมของตัวเอง เช่น วันนี้จะมีละครเริ่มออกอากาศตอนแรก จะมีการปล่อยเพลงใหม่ หรือ จะมีคิวโชว์ตัวที่สถานที่ใดเวลาใด ซึ่งสามารถทำให้แฟนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา ซึ่งสื่อมวลชนก็มีหน้าที่นำไปขยายผลต่อในวงกว้าง ดาราบางคนพัฒนาจนถึงขั้นเสนอขายสินค้าหรือ รับโฆษณาสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น ขมพู่ อารยา ที่นำเทรนด์ของตุ๊กตาบลายธ์และเฟอร์บี้ให้เป็นที่นิยม เพื่อส่งเสริมกิจการร้านตุ๊กตาของเธอ หรือ โดม ปกรณ์ ลัม ที่รับสปอนเซอร์จากอาหารบำรุงความงามและกล้องดิจิทัล ในคลิปเปิดเผยเคล็ดลับสุขภาพทางช่องยูทูบซึ่งนำไปสู่กระแสในหมู่แฟนคลับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน ดารานั้นไม่สามารถอยู่ได้ด้วยเพียงการขายลิขสิทธิ์หรือการแสดงผลงานเพียงลำพัง เนื่องจากโอกาสการแข่งขันที่สูงขึ้นในหมู่ดาราด้วยกันเอง ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดาราสามารถสร้างกระแสความนิยมได้ เพราะนอกจากสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของดาราแล้ว ยังคงเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนหรือสื่อมวลชนจะหยิบฉวยประเด็นต่างๆไปขยายผล